ปริศนา‘อีโบลา’...ซ่อนใน‘ดวงตา’มนุษย์ : ทีมข่าวรายงานพิเศษ ที่มา http://www.komchadluek.net/detail/20150516/206388.html ขณะที่ “องค์การอนามัยโลก” ประกาศข่าวดีให้ประเทศไลบีเรียปลอดเชื้อไวรัสอีโบลาไปเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา แต่วงการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ด้านไวรัสวิทยากำลังเผชิญข่าวร้าย หลังจากเล่นซ่อนหากับเชื้ออีโบลาเกือบ 2 เดือนเต็ม...
จากสถิติล่าสุดพบว่า 3 ประเทศที่เคยเผชิญวิกฤติไวรัสอีโบลาระบาดในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก คือ “กินี” “ไลบีเรีย” และ “เซียร์ราลีโอน” เริ่มสถานการณ์ดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างรวดเร็ว หลังจากใช้เวลาเพียงไม่ถึง 1 ปี ไวรัสร้ายตัวนี้สามารถแพร่กระจายมีผู้ติดเชื้อ 2.6 หมื่นราย และเสียชีวิตถึง 1 หมื่นราย คิดเป็นอัตราผู้เสียชีวิตสูงถึง ร้อยละ 40 “ไลบีเรีย” เป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด 4,700 ราย แต่ก็เป็นประเทศแรกที่องค์การอนามัยโลกประกาศว่าปลอดเชื้อไม่พบผู้ป่วยรายใหม่แล้ว ขณะที่ชาวบ้านใน 3 ประเทศกำลังถอนหายใจอย่างโล่งอก แต่ฝั่งผู้เชี่ยวชาญเชื้อไวรัสอีโบลากลับนั่งกุมขมับ หลังจากค้นพบว่าเจ้าเชื้อไวรัสอีโบลาตัวนี้ร้ายกาจกว่าที่คิด !?!
ย้อนไปเมื่อเดือนกันยายนปี 2557 นพ.เอียน โครเซียร์ วัย 43 ปี หนึ่งในผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลาระหว่างที่ทำงานอยู่ในเซียร์ราลีโอน ถูกส่งตัวกลับอเมริกาเพื่อเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเอโมรี นครแอตแลนตา แม้ว่าช่วงแรกอาการป่วยจะอยู่ในขั้นรุนแรง แต่ทีมแพทย์ช่วยกันรักษาจนอาการดีขึ้นและออกจากโรงพยาบาลได้ในเดือนตุลาคม 2557
ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นเมื่อ “หมอเอียน” กลับมาบ้านแล้วรู้สึกว่าตาข้างซ้ายมีอาการผิดปกติ รู้สึกเหมือนแสบๆ ร้อนๆ ในดวงตา และเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ข้างในตา รวมทั้งเวลาเจอแสงสว่างดวงตาเริ่มสู้แสงไม่ได้เหมือนเดิม คณะแพทย์ผู้รักษาตรวจร่างกายหมอเอียนอย่างละเอียดอีกครั้ง โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุแพทย์มาร่วมตรวจด้วย ช่วงแรกยังตรวจไม่เจอสาเหตุที่สำคัญ โดยเฉพาะตรวจไม่พบเชื้ออีโบลาในสารคัดหลั่งหรือเลือดของหมอเอียน ห้องแล็บยืนยันว่าทุกอย่างปลอดเชื้ออีโบลา แต่อาการแสบตาของหมอเอียนเริ่มแย่ลง เริ่มมองเห็นไม่ชัดเป็นช่วงๆ มีอาการปวดมากขึ้นและอาการอักเสบที่ดวงตารุนแรงขึ้น จักษุแพทย์ระบุได้เพียงว่าอาการแบบนี้เป็นอันตรายถึงกับตาบอดได้ ทีมแพทย์ช่วยกันตรวจหาเชื้ออีโบลาซ้ำอีกหลายครั้ง เช่น นำสารคัดหลั่งจากดวงตาไปตรวจ เช่น น้ำตา ก็ไม่พบความผิดปกติ แม้แต่การตรวจของเหลวในเยื่อตาขาวก็ไม่พบเชื้ออีโบลาแต่อย่างใด จนกระทั่งใช้เวลาหลายอาทิตย์กว่าจะพบว่าไวรัสร้ายตัวนี้ไปซ่อนอยู่ที่ “วุ้นหลังเลนส์ตา” เป็นการตรวจพบในวุ้นหรือสารเหลวหลังเลนส์ตา ซึ่งปกติเป็นหนึ่งในอวัยวะที่มีระบบป้องกันเชื้อโรคขั้นสูงสุดของร่างกายมนุษย์ ทีมแพทย์ใช้เวลารักษาดวงตาหมอเอียนอีกหลายเดือนกว่าจะกลับสู่สภาพปกติ จากนั้นทีมรักษาหมอเอียนช่วยกันทำวิจัยเรื่องการหลบซ่อนตัวของเชื้ออีโบลาในดวงตามนุษย์ และนำเสนอต่อ “วารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์” เพื่อตีพิมพ์และให้การรับรองผลการวิจัย โดยยังไม่ได้ประกาศข้อมูลนี้ออกสู่ภายนอก จนกระทั่งบทวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์เมื่อ 7 พฤษภาคม 2558 สื่อมวลชนจึงได้รับรู้ข้อมูลปริศนาไวรัสชอบเล่นซ่อนหาตัวนี้มาเผยแพร่ จนถึงปัจจุบันยังไม่มีใครรู้ว่าเชื้ออีโบลาเข้าไปหลบเร้นซ่อนตัวในวุ้นหลังดวงตามนุษย์ได้อย่างไร ทั้งที่ผลการตรวจของเหลวในร่างกายส่วนอื่นระบุว่าไม่มีเชื้อไวรัสอีโบลาหลงเหลืออยู่ในร่างกายอีกแล้ว นพ.รัสเซล แวน เกลเดอร์ ประธานภาควิชาจักษุวิทยา มหาวิทยาลัยแพทย์วอชิงตัน อธิบายว่าดวงตาเป็นจุดที่มีความเป็นส่วนตัวสูง ไม่ค่อยมีอาการแพ้ หรืออักเสบเกิดขึ้น การค้นหาเชื้ออีโบลาในดวงตาจึงเป็นเรื่องซับซ้อน หากไวรัสตัวนี้สามารถซ่อนตัวในดวงตาและหลบหนีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ หมายถึงในอนาคตเชื้อร้ายที่แอบฝังตัวไว้อาจกลับมาทำให้ป่วยได้อีก “ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา” ผอ.ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ยอมรับว่าไวรัสอีโบลาเป็นหนึ่งในเชื้อโรคที่ไม่ธรรมดา จากเริ่มแรกก็มีรายงานวิจัยว่าไปหลบซ่อนฝังตัวอยู่ในอสุจิของผู้ป่วยนานถึง 3-6 เดือน เหมือนกรณีนี้ที่ไปแอบซ่อนในหลังวุ้นเลนส์ตาของหมอเอียน “ตอนนี้ไม่มีใครรู้ว่าอีโบลาไปแอบหลบที่ไหนอีก เพราะคนป่วยที่รักษาอาการหายแล้วจะตรวจไม่พบเชื้อในเลือดหรือสารคัดหลั่งทั่วไป ยกเว้นที่อสุจิแต่ก็ไม่ได้พบทุกคน เราได้แต่เตือนผู้ป่วยอีโบลาห้ามมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 6 เดือน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหลัง 6 เดือนจะปลอดภัย และยังไม่มีใครรู้ว่าอีโบลาจะฝังตัวอยู่ในดวงตาได้นานกี่เดือน ตอนนี้ก็มีการเฝ้าระวังเรื่องการกลายพันธุ์แต่ยังไม่มีรายงานที่ชัดเจนออกมา ถือเป็นเชื้อปริศนาจริงๆ” ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสกล่าวทิ้งท้าย “หมอเอียน” ไม่ได้เป็นผู้ป่วยรายแรกที่พบอีโบลาไปหลบซ่อนในดวงตา เชื่อว่าก่อนหน้านี้มีผู้รอดชีวิตจากเชื้อนี้หลายรายในแอฟริกามีอาการผิดปกติที่ดวงตาเช่นกัน สืบเนื่องจากประสบการณ์ที่เคยรับมือกับาการระบาดของเชื้อไวรัสเอดส์ในช่วงเริ่มแรกเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วนั้น ผู้ป่วยราว 1 ใน 3 มีอาการตาบอดก่อนจะเสียชีวิต ทำให้นักจักษุแพทย์ทั่วโลกจับตาเฝ้าระวัง “ไวรัสอีโบลา” เป็นพิเศษ “แดเนียล บีรีฮูแลก” นักข่าวอิสระจาก “หนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์ก ไทม์” ลุกขึ้นยืนเอามือทาบอกหลังรู้ว่าตัวเองคว้ารางวัลพูลิตเซอร์ ปี 2558 จากชุดภาพถ่ายสารคดีที่ไปรายงานข่าวโรคอีโบลาระบาดในแอฟริกาตะวันตก แดเนียลให้สัมภาษณ์ลงในเว็บไซต์ www.buzzfeed.com ว่า วินาทีที่เขาถ่ายภาพเด็กชายไลบีเรียวัย 8 ขวบกำลังถูกพาไปศูนย์ดูแลผู้ป่วยอีโบลานั้น เขาไม่ได้คิดถึงรางวัลอะไรทั้งสิ้น เขารู้แต่ว่าต้องถ่ายภาพการระบาดของอีโบลาแล้วเผยแพร่ให้ชาวโลกรับรู้ว่า ที่นี่ต้องการความช่วยเหลือมากแค่ไหน |